แม้ฟังใจจะเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับดนตรีเป็นหลัก ทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราก็ใส่ใจงานดีไซน์ เราจึงอยากจะแชร์กระบวนการทำโปสเตอร์ ’เห็ดสด’ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ให้กับทุกคนที่สนใจ และการทำงานชิ้นนี้ทำให้พวกเรารู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้ทดลองทำอะไรแปลก ๆ เพี้ยน ๆ หลังเรียนจบ
Process behind Hedsod Lab Poster
ทุกคนมักได้เห็นงานออกแบบที่สำเร็จเสร็จแล้วถูกนำเสนอสู่สายตาประชาโลกโดยที่ไม่ได้รับรู้ถึงขั้นตอนก่อนหน้าและเบื้องหลังอันเหนื่อยยาก ซึ่งผู้ชมก็ไม่ต้องรู้ก็ได้แต่อยากบันทึกเก็บไว้
กว่าจะมาเป็นเยลลี่ใสในแล็บมืดบน ‘โปสเตอร์เห็ดสด 4’
นักออกแบบไม่ใช่อาชีพพระเจ้า ที่ฝัน ๆ อยู่แล้วเนรมิตออกมาเป็นงานได้ ต้องล้มลุกคลุกคลาน มีกี่แบบที่ล้มไป มีกี่ทางที่ถอดใจ อกหักไปกี่หน จนได้มาเป็นชิ้นงานที่เห็นกัน
What is Hedsod Concert?
‘เห็ดสด’ เป็นงานคอนเสิร์ต จัดโดยฟังใจ จัดปีละ 2-3 ครั้ง มีไลน์อัพประกอบกันจากจาก ’วงใหม่ดาวรุ่ง ’+ ’วงดัง’ + ’วงเก่าหวนคืนกลับมา’ เพื่อให้ก้อนมหาประชาแฟนเพลงแต่ละภาคส่วนที่สนับสนุนเพลงไทยหลากหลายแนว มาแลกเปลี่ยน สำรวจรสนิยม และรู้จักกันและกัน ซึ่งหลายคนอาจจะเคยไปงานเห็ดสดมาก่อนหรือเคยได้ยินชื่อมาบ้าง
เนื่องจาก ’ฟังใจ’ ล้อมาคำว่าจาก’fungi’ อาณาจักรของ เห็ด รา ยีสต์ (อยากรู้เพิ่มเติมให้ไปอ่านเรื่องบริษัทเราได้ ที่นี่ [linkไป https://www.fungjai.com/about-us)) พอเราจัดงานคอนเสิร์ตสด ก็เลยตั้งชื่อว่า’เห็ดสด’ ฟังดูไทย ๆ แสบ ๆ คัน ๆ บ้าน ๆ กวนตีนนิด ๆ ไม่วางมาด
ทุกครั้งที่มีเห็ดสดครั้งใหม่เกิดขึ้น ทีมออกแบบและอีเวนต์ก็ร่วมกันระดมสมองตีความคำว่า “เห็ดสด” ออกมาเป็นหลากหลายทางว่า เห็ดสด+อะไรดี ไม่ว่าจะเป็น ‘เห็ดสดในป่ารกชื้น’ ‘เห็ดสดจากฟาร์ม’ ‘เห็ดสดในซุปเปอร์มาร์เก็ต’ ‘เห็ดสดดิบ’ ฯลฯ ซึ่งคราวนี้เราเลือกธีม ‘เห็ดสดจาก Lab’ มาทำเพราะน่าจะเข้าใจง่ายและชัดเจนที่สุด (ทุกอย่างดูง่ายและเป็นไปได้ไปหมดยามมโน)
Previous Posters
Key Visual ของโปสเตอร์นี่เราวางไว้ว่าจะถ่ายรูปสด ๆ ด้วยพื้นฐานของความเป็นโปสเตอร์งานคอนเสิร์ต ฟังก์ชันสำคัญของโปสเตอร์คือต้องเน้นชื่อวงที่อ่านออกได้ง่าย Typographic จึงมีความเน้นคำมาก ๆ ความสนุกคือเราจะมีวิธีแสดงชื่อวงเหล่านี้ออกมาอย่างไร ลองมาดูโปสเตอร์เห็ดสดครั้งเก่า ๆ กันเพื่อให้เห็นภาพ
เห็ดสด 4: เห็ดสดจากแล็บ
เมื่อสำรวจ Line Up เห็ดสดรอบนี้ โดยรวมแล้วมีความดาร์ก ลึกลับ เจือเศร้า เราจึงได้คุยกันว่าโปสเตอร์คราวนี้ต้องออกมามืด ๆ น่าค้นหาหน่อย หลังจากโหวตกันอย่างดุเดือด สรุปว่าจะใช้ Keyword เป็นธีม ‘ห้องทดลองวิทยาศาสตร์’ ชวนให้มาเพาะพันธุ์ดนตรีแปลกใหม่กันเถิดนักฟังชาวไทย โดยศิลปินจะเป็นสปอร์ในแผ่นแก้ว อยู่ในห้องแล็บมืด ใช้แสงน้อยแต่ดูไม่ EDM ตึ๊ด ๆ จนเกินไปเพราะจะผิดกลุ่มเป้าหมาย (ขอโทษด้วยนะตี๋ EDM) ความเป็น’ฟังไจ’ ของฟังใจก็เกี่ยวข้องกับบทเรียนชีวะสมัยมัธยม สอดคล้องกันดี
Key Visual | ภาษาภาพที่เราอยากจะสื่อ
Key Visual ก็คือภาพสำคัญที่เราต้องการและมีปลายทางร่วมกัน ก่อนที่จะคิดไปไกล เราต้องมาคุยกันคร่าว ๆ ให้ชัดเจนว่าปลายทางของเราจะประมาณไหน ไม่ให้นอกลู่นอกทางแบบอยู่ ๆ ทดลองแล้วหลุดทะเลไปไกล แถมจะได้ไม่ตีกันตอนหลัง (งานนี้สันติมาก ขอบคุณ ’ตุล’ ผู้ใจเย็นดั่งสายนํ้าไหล) KV Direction นี้นำมาใช้ในการช่วยตัดสินใจในโลกที่มีความเป็นไปได้มากมาย
จากนั้น ทีมกราฟิก ประกอบด้วยทรายและตุล ก็แยกกันไปเสาะหา reference และตกผลึกทางความคิด ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสื่อความเป็นแล็บวิทยาศาสตร์ สรุปมาเป็น 4-5 วิธีที่แลดูมีความเป็นไปได้ แล้วมาแลกกันดู
ถ้าโลกนี้มีเวลาไม่จำกัด เราก็อยากจะลองทุกทางที่เราคิดมา แล้วก็ออกไปสำรวจโลกจริงเลย เราไปศึกษาภัณฑ์และร้านอุปกรณ์เบเกอรี่ เพื่อดูความเป็นไปได้ของวิธีต่าง ๆที่จะทำ พบว่าเครื่องแก้วทดลองมันแพงมาก ๆ ชิ้นละ 400-2,000 น่าจะเกินงบ (Function follows finance นาจา)
สุดท้ายเราก็เลือกธีม Dark Lab เพราะเข้ากับธีมของวงไลน์อัพที่ลึกลับน่าค้นหามากที่สุด แล้วตัดสินใจใช้ execution ตัวอักษรวงทำมาจากเยลลี่ใส ๆ เหมือนสารกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง บนแผ่นแก้วใส ที่น่าจะนำเสนอความเป็นแล็บได้โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์แล็บ (ที่แพงมาก) หลายชิ้นเกินไป ประกอบกับถุงมือทดลอง และสีไฟสลัว ๆ น่าจะได้ภาพห้องแล็บที่มีความลึกลับอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ได้ดี
Alphabet Mold
การหาพิมพ์อักษรไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ส่วนมากจะเป็นอักษรสำหรับเบเกอรี่ ใช้ทำช็อกโกแลต หรือคุกกี้แบบกลมมน แบ๊ว ๆ ใส ๆ สไตล์เบเกอรี่สาวหวานแม่บ้านคาวาอี้ ซึ่งถ้ามาใช้กับความเป็นแล็บมืดของเราแล้ว สารและความรู้สึกดาร์กที่จะสื่อน่าจะพังทลาย สุดท้ายเราไปพึ่งร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ (ที่อยู่แสนไกล) ที่มีพิมพ์อักษรให้เลือกหลายแบบ เป็นวัสดุซิลิโคนยืดหยุ่น ซื้อมาสามขนาดเพื่อลองสามแบบ
ท้ายสุดพวกเราเลือกพิมพ์ชุดตัวอักษรที่ใหญ่สุดเป็นแบบ condesne bold เพื่อประหยัดเนื้อที่แนวขวาง เรียงตัวเป็นคำได้สวย มีโอกาสรอดมากที่สุด พังยาก โครงสร้างตัวอักษรไม่บอบบางเกินไป ต้องแข็งแรงต่อการแกะออกจากพิมพ์ มีความ Bold และอ่านง่าย เพราะเดี๋ยวมันจะต้องโปร่งใส
Gelatin Alphabet
การหาพิมพ์อักษรเจอนี่ดูเหมือนจะรอดแล้ว แต่จริง ๆ เรายังต้องทดลองต่อว่าการสร้างอักษรใส ๆ ดึ๋ง ๆ นั้นควรเลือกวัตถุดิบอะไรถึงจะเหมาะที่สุด
รูปแบบตัวอักษรที่เราอยากได้ต้องโปร่งใส แสงลอดผ่านได้ ยืดหยุ่น ไม่ละลาย เก็บไว้ได้หลายวันในตู้เย็น ต้องไปเสิร์ชนั่งดูวีดีโอการทำวุ้นและเยลลี่ พบว่าสามารถทำได้หลายวิธีทั้งจากผงวุ้นที่มาจากเจลาตินกระดูกสัตว์ หรือผงวุ้นแบบ agar ที่ทำวุ้นมะพร้าว วุ้นกะทิเป็ด ซึ่งสัมผัสก็จะต่างกัน ความหนืด การความแข็งตัวก็ต่างกันด้วย
เราต้องทดลองละลายผงกับนํ้าร้อน หาสัดส่วนที่เหมาะสม หากสาระละลายจางไปเยลลี่ก็จะแข็งตัวช้าหรือไม่แข็งตัวเลย แต่ได้ตัวอักษรที่ใส แกะออกจากพิมพ์แล้วพังไปก็มาก เละไปก็เยอะ จนได้สูตรว่าใช้นํ้าร้อน 100 กรัม ต่อผงเจลาติน 3 ช้อน จะได้ไวที่สุด ไม่ข้นเกินจะคน แข็งได้ในเวลาไม่เกิน 1-2 ชม. (รู้สึกถึงจิตวิญญาณความเป็นนักทดลองตัวจิ๋ว และแม่บ้านช่างสังเกตไปพร้อม ๆ กัน) ด้วยความรีบของโปรเจกต์ เราต้องยอมให้เยลลี่เจือสีเหลืองด้วยเจลาตินเข้มข้นชนิดที่แดกไม่ได้ มีกลิ่นเหม็นอับแปลก ๆ (มันทำมาจากระดูกสัตว์เลยคาวมาก ๆ) แล้วไปลดสีด้วยการจัดแสงและการรีทัชเอาภายหลัง
Light and Set Experiment
เมื่อได้อักษรเยลลี่ใสที่น่ารักแล้ว เราก็ต้องคิดต่อไปว่าจะทำยังไงให้อยู่ด้วยกันรอดด้วย เพราะสำหรับงานออกแบบที่ดี Good work is more than a sum of its parts เราก็กลับไปดู reference และอุปกรณ์ไฟที่เรามี เราก็ทดลองแสงแบบต่าง ๆ
‘น้องตั๊ง’ น้องฝึกงานเสนอไอเดียว่าลองส่องไฟให้แสงลอดผ่าน จริง ๆ มันเท่มากและดูลํ้า experiental มาก แต่มันอ่านยาก โดยเฉพาะเมื่อมีชื่อเจ็ดวงเรียงกัน แล้วจะมีเงาด้วย ทำให้ฟังก์ชันไม่ตอบสนอง ก็ต้องยอมถอดใจ เราลองส่องไฟแบบต่าง ๆ ลองวางในแนวตั้ง ลองวางสองแกน วางบนจอทีวี ปรากฏว่าอ่านยากเกินไป ลองส่อง Black Light แล้วเจลาตินกลายเป็นทึบขุ่นไปเลย ฯลฯ
จากการลองมาหลายวิธีก็พบว่าไฟที่มีอยู่ไม่เหมาะ เลยไปซื้อไฟ LED หลอดและ LED เส้นสีขาวมาเพิ่มความสว่าง เรามีตัวอย่างมาให้ดูกันเล่น ๆ เผื่อใครจะเอาไปต่อยอดก็ไม่หวง แต่เอามาอวดด้วยว่าพอเอาไปทำต่อแล้วดีกว่าที่เราทำ
Production
เราทดลองจนถึงวันสุดท้ายเท่าที่มีโอกาส สรุปว่าเราจะถ่ายบนกล่องใสที่ใส่ไฟ LED สีขาว และขับแสงด้วยหลอด LED สีนํ้าเงินให้ดูสังเคราะห์ลึกลับ ไม่เรืองแสงเกาะพงัน และต้องไม่ EDM จนเกินไป (ขอโทษอีกทีนะตี๋ EDM) เราเพิ่มเติม Prop และถุงมือทดลองสีขาวแนบเนื้อ และเพิ่มสารละลายเยลลี่เหลว ๆ ประกอบไปใน Layout เยลลี่ให้รู้สึกว่ากำลังมีการทดลองเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การจัดวางที่แข็งนิ่งเกินไป มือนางแบบได้ ’เค้ก’ เจ้าหน้าที่ด้านการตลาด และ ’ตุล’ มาร่วมฉาก โดยขอให้ ’หนึ่ง’ ช่างภาพและวีดีโอของบริษัทกับ ‘จอม’ น้องฝึกงานมาช่วยถ่ายให้ เมื่อได้ภาพออกมาเป็นที่พอใจ บางอย่างก็ยังอ่านยาก มีความไม่สมบูรณ์ของฉากที่เราใช้ และเนื่องจากสื่อหลักที่เราจะใช้โปรโมทคือ Facebook Page และ Event Page เลยทำให้ต้องมีแนวนอนและแนวตั้ง และสามารถ Crop เป็นจตุรัสได้ด้วย
ด้วยความไม่สมบูรณ์ของฉากและไฟที่ควบคุมยาก และอักษรเจือสีเหลือง เมื่อถ่ายเสร็จ เราจึงขอให้พี่เป็ด (นภรณ กาญจนสมวงศ์) เทพรีทัช อดีตกราฟฟิกดีไซเนอร์ฝึกงานอาวุโสมาช่วยเรารีทัชให้ภาพเป็นดังที่เราจินตนาการไว้ จากนั้นตุลก็เป็นคนจัด Final Layout ออกมาเป็นโปสเตอร์อย่างที่เราเห็นกันนี่แหละ 🙂
Budget Summary
- ราคาอุปกรณ์เยลลี่ ผงเยลลี่และแม่พิมพ์ที่ซื้อมาลอง 1,200 บาท
- กล่องใสอะคริลิกสั่งทำ 1,100 บาท
- อุปกรณ์แล็บ+ถุงมือยาง 1,000 บาท
- ราคาไฟ LED 800 บาท (ใช้กับงานคอนเสิร์ตฟังใจมันต่อได้ด้วย)
- เวลา 2 สัปดาห์ (ไม่ได้ทำทุกวันและทั้งวัน เพราะมีช่วงที่ต้องรอเยลลี่แข็งตัวด้วย)
——-
Retrospective
นักออกแบบทุกคนต่างมีวิธีคิดและการทำงานที่แตกต่างกัน ฟังใจเราทำวิธีนี้ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แค่อยากแชร์ประสบการณ์ของอาชีพเราให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ พี่ ๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน งานคราวนี้เป็นการทดลองทั้งทางภาพและกระบวนการเบื้องหลังจริง ๆ นั่งคำนวณสารละลาย และจับเวลา มีตัวแปรต้นตัวแปรตามกันวุ่นวาย สนุกและเนิร์ดมาก
‘เห็ดสด’ เราตั้งใจทำทุกขั้นตอน แม้บางคนจะบอกว่าโปสเตอร์แม่งไม่สำคัญหรอก แค่ไลน์อัพเทพก็รอดแล้ว แต่เราเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไร จะมีคนเห็นและรู้สึกได้ว่าเราใส่ใจและแคร์เขาทุกขั้นตอน คอนเสิร์ตไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันงาน แต่คือประสบการณ์ก้อนรวม ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านไปซื้อ จนกระทั่งได้ไปงาน กลับบ้านไปตื่นเช้ามาก็ยังเปิดฟังเพลงต่อเพราะอารมณ์ค้าง
เราตั้งใจตั้งแต่เลือกวง เลือกภาษาและภาพที่จะใช้ให้เหมาะสม ขี้เล่นแต่ก็จริงจัง แล้วมาพบกันที่เห็ดสด 4 เพื่อเฉลิมฉลองห้องทดลองทางดนตรี เพื่อให้เสียงเพลงที่แตกต่างหลากหลายมีคนสนับสนุนและอยู่รอด
หวังว่าทุกคนที่อ่านจะได้ประโยชน์จากการทดลอง ที่มีทั้งความผิดพลาดและการเรียนรู้สิ่งใหม่ของเราไม่มากก็น้อย อย่างน้อยใครก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ทำโปสเตอร์เห็ดสด 5 คงต้องมาอ่านเพื่อระลึกชาติว่าเราทำอะไรลงไป
- Design & Art Direction: ‘ทราย’ พิชญา โชนะโต และ ‘ตุล’ ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต
- Photograph: ‘หนึ่ง’ หนึ่งบุรุษ บุตรชัยงาน
- Retouch: ‘เป็ด’ นภรณ กาญจนสมวงษ์
- Hand Model: ‘เค้ก’ สุธาวี ถนอมบูรณ์เจริญ