River of Consciousness, 2017 Oliver Sacks

References / Review

รวมเรียงความของ Oliver Sacks ตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิต หลายคนมองวิทยาศาสตร์ในแง่มุมว่าไร้หัวใจ แต่เราไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย ประวัติศาสตร์หรือกระบวนการวิทยาศาสตร์ หรือกระทั่งจุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นไปด้วยความสนใจในโลก และเข้าใจข้อจำกัดของเรา

oliver sacks, river of consciousness
River of Consciousness, Oliver Sacks

Oliver Sacks คือผู้เขียนคนสำคัญในชีวิต เขาทำให้เรามองหลายสิ่งเปลี่ยนไป ชุบชีวิตความสนใจในธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เข้าใจระบบ การอ่านหินและมองพืช ไม่ใช่สิ่งน่าเบื่อ แค่เป็นดินแดนที่เรายังไม่มีความรู้ ยังมีอะไรอีกมากในความทรงจำของโลก และเวลาในชีวิตนั้นน้อยเกินไปกว่าจะรู้และเข้าใจได้อย่างที่เราปรารถนา

  • Darwin and The Meaning of Flowers เล่าถึง ชาร์ลส์ ดาร์วินในฐานะผู้หลงใหลต้นไม้ พืชดอกที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของแมลงเต่าทอง ชอบประโยคที่ว่า “Darwin always had a special tender feeling for plants”
    • ความสนใจในพืชพรรณเป็นรากสำคัญของแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการ  ดาร์วินเชื่อว่าการสังเกตที่ดีเกิดจากการชอบตั้งทฤษฎี ความงามของต้นไม่ไม่ใช่แค่ในแง่ความสวยงาม แต่ในเชิงการใช้สอย การอยู่รอด การปรับตัวที่ทำงานอย่างแข็งขัน
    • กล้วยไม้ไม่ใช่เพียงสิ่งประดับตกแต่ง แต่คือจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ไม่มีอะไรในโลกธรรมชาติเป็นเหตุเป็นผล ยกเว้นว่ามีแสงแห่งวิวัฒนาการส่องสำรวจ จัดระเบียบ เรียบเรียง และแสวงหาความหมายในโลกที่กระจัดกระจาย
    • ชีวิตบนโลกนั้นสืบย้อนไปยาวนานหลายพันล้านปี เราได้ฝังประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านี้ไว้ในกายของเรา พฤติกรรม พันธุกรรม สัญชาตญาณ ไม่เคยหยุด ไม่เคยซ้ำ และไม่เคยกลับหลัง เมื่อสิ่งใดสูญพันธุ์ สายแห่งพันธุกรรมสาขานั้นก็ตัดฉับลงไปเพียงเท่านั้น
    • ธรรมชาติไม่มีแผน ไม่สร้างผัง ไม่มีทิศทาง ไม่มีจุดมุ่งหมาย ทั้งหมดไม่ไร้ความหมายภายใต้แสงไฟวิวัฒนาการที่ส่องมองดู make sense under a light of evolution 🙂
  • Speed  ว่าด้วยการรับรู้ความไวของมนุษย์อันมี Spectrum แน่นอนว่าตอนเด็กเราไวกว่าตอนเราแก่ชรา ไม่ได้ห่างกันจนคนที่เร็วมากและช้ามากก็ยังสื่อสารกันได้ เล่าความสนใจของเขา ตั้งแต่เด็กที่สนใจการเคลื่อนไหวและเวลาจากหนังสือของ H.G. Wells อะไรทำให้แต่ละคนรับรู้หรือรู้สึกถึงเวลาต่างกัน สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะรู้สึกถึงเวลาใน pace เดียวกันไหม
    • คนชอบบอกว่าเวลาแต่ปีจะเร็วขึ้นในความรู้สึกเมื่อเราแก่ลง อาจจะเพราะวัยเด็กมีแต่เรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่เคยพบเห็น จึงตื่นเต้น แต่ละปีจึงมีอะไรมากมาย เมื่ออายุมากขึ้น แต่ละปีกลายเป็นสัดส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ จากจำนวนเวลาที่เราผ่านมาทั้งหมด แต่ละปีอาจจะไวขึ้น
    • ในวัย 80 กว่าๆ Sacks ยืนยันว่าแต่ละนาทีและวินาทีรู้สึกเหมือนเดิม หนึ่งชั่วโมงยังยาวนานเมื่อเราเบื่อหน่าย และรวดเร็วผ่านไปเมื่อเรารู้สึกกระตือรือล้นสนใจ และบางครั้งเวลาเพียงชั่วครู่ถูกยืดขยายขึ้นในความทรงจำเมื่อมองกลับไป เช่นวินาทีเฉียดตาย การใช้ยาบางชนิดทำให้คนรับรู้เวลาผิดไปได้
    • Dostoyevsky เคยเขียนถึงประสบการณ์อาการลมชักในชั่วเวลาวินาที เขารู้สึกถึงการมีอยู่ของตลอดไปอันเป็นหนึ่ง (Eternal Harmony)  … “ในเวลา 5 วินาที ข้าพเจ้าได้ใช้ของมวลมนุษย์ทั้งหมดที่เคยมี ยอมสละชีวิตตัวเองได้ เพราะไม่คิดว่ามันมีราคาอะไรนัก”
    • Oliver Sacks เป็นแพทย์ประสาทวิทยา เมื่อรักษาคนไข้เขาตั้งข้อสังเกตว่า คนเราต่างมีนาฬิกาการรับรู้เวลาฝังอยู่ในร่างโดยที่เราไม่รู้ตัว คนไข้ผู้เคลื่อนไหวช้าจนแทบหยุดนิ่ง รู้สึกว่าเวลานาฬิกาบนผนังผ่านไปเร็วผิดปกติ โรค Tourette ทำให้คนรับรู้เวลาผิดเพี้ยนไป คนบางคนสามารถจับแมลงวันได้ด้วยมือเปล่า เขารู้สึกว่าแมลงนั้นบินช้าเองนี้ แม้ร่างกายของเรามีข้อจำกัด เราติดอยู่ในร่างนี้ แต่มนุษย์ก็สามารถเอาชนะข้อจำกัด ก้าวผ่านเวลา พาสมองเข้าสู่ความไวใดก็ได้ผ่านการนึกคิดของเรา
  • The Other Road: Freud as Neurologist เรื่องนี้ยากไปหน่อยเลยอ่านข้ามๆ คือเหมือนเป็นโน้ตทางวิชาชีพมาก เล่าถึงซิกมันด์ ฟรอยด์ ก่อนจะเบนอาชีพมาสาย psychoanalysis อย่างที่เรารู้จัก เขาเคยเป็นนักประสาทวิทยามาก่อน  แต่ในยุคนั้น ไม่มีเทคโนโลยีที่จะตรวจสอบสมมติฐาน การเชื่อมต่อระหว่างจิตใจ กับ physical object  ได้ชัดเจน ชอบ vibe การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านจดหมายของคนในยุคฟรอยด์ ยุคนี้เราคงเขียนบล็อก หรืออัพสเตตัสส่งไปในกระแสธารของมวลชน หวังว่าจะมีคนตอบกลับอย่างตั้งใจ
  • The Fallability of Memory ว่าว่าด้วยความผิดพลาดไม่แน่นอนของความทรงจำ Oliver เล่าถึงความทรงจำของเขาสมัยเด็กเกี่ยวกับเหตุระเบิดในยุคสงครามโลก เมื่อไปคุยกับพี่ชายจึงพบว่า เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับเขาเลย แต่เป็นความทรงจำปลอมสร้างจากฟังเรื่องเล่าของพี่ชายอีกที หลายสิ่งกลับไปสืบค้นไม่ได้ เช่นความทรงจำเขาก่อนอายุ 18 เพราะแทบไม่ได้เก็บบันทึกหรือจดหมายใดไว้เลย
    • เมื่อหวนมาพิจารณาเขาก็รู้ว่าความทรงจำสำคัญหลายอาจไม่จริง เหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง (pseudo-events) อาจเป็นเพียง Implanted Memory อันแนบเนียน แม้มันจะรู้สึกจริงมากๆ ก็ตาม หากเราเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงและฝังมันเข้าไปแล้วอย่างสนิทใจ เครื่องตรวจเท็จก็จับไม่ได้
    • การลืมนี้เองอาจทำให้เกิดภาวะ Auto-plagiarism คือการที่เราพบไอเดียใหม่ที่จริงๆ ยืมมาจากตัวเองในอดีตที่เราลืมไป เราคิดพูดในสิ่งที่เราเคยคิด-เคยพูดไปแล้ว บางทีเราหยิบคำคนอื่นมาพูดเหมือนเราคิดได้เอง เพราะลืม source ไปแล้ว บางคนสร้างงานขึ้นมาโดยเชื่อสนิทใจว่าตัวเองคิดขึ้นมาเอง ก่อนมีคนจะพบสิ่งที่คล้ายกันก่อนหน้า ซึ่งเขาจดจำไม่ได้ว่าเคยได้รับรู้มาก่อนจนรับเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของเราเอง กระทั่งเชคสเปียร์ก็หยิบยืมบ่อยครั้งจากคนร่วมยุคตนเอง ส่วนเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์นั้นเราสามารถรับรู้ได้ผ่านการเล่าของคนอื่นเท่านั้น การหยิบยืมเรื่องเล่าของคนอื่นจึงเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดได้
    • ความจริงของเรานั้นเป็นเพียง narrative truth คือเรื่องเล่าที่เราบอกตัวเองหรือคนอื่น คือเรื่องที่เราจัดเรียงใหม่สม่ำเสมอ ขัดเกลาใหม่ทุกครั้งที่เรานึกถึงหรือบอกเล่าใหม่ นี่คือธรรมชาติของความทรงจำ จนเราคิดว่าความทรงจำนั้นเป็นชิ้นเป็นอันและเชื่อถือได้
    • ไม่มีทางที่เหตุการณ์บนโลกนั้นจะถูกส่งตรงมาบันทึกไว้สู่สมองเรา โดยไม่ผ่านการมองและตีความของเรา นี่คือข้อจำกัดที่เรามี การเป็นมนุษย์จึงประกอบความทรงจำที่พร้อมจะร่วงหล่น ผิดพลาด เพี้ยนไปจากความจริงได้ทุกเมื่อ ความไม่สมบูรณ์แบบ ความบอบบาง ความผิดพลาดของความทรงจำจึงเป็นพื้นที่ว่างให้เกิดเรื่องเล่า จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
    • หากเราสามารถจำแนกทุกความทรงจำและทุกความรู้เราได้กับทุกต้นตอที่มา สมองเราคงรับและจดจำข้อมูลทั้งหมดไม่ไหว เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายที่ irrelevant  
    • ความทรงจำจึงไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ที่เราได้รับเท่านั้น แต่ประกอบกันจากการร่วมรักแลกเปลี่ยนกันระหว่างความคิด-จิตใจของคนจำนวนมากที่ประสบมัน
  • Mishearings ตอนนี้สั้นๆ เล่าถึงประสบการณ์หูเพี้ยนที่เกิดขึ้นในวัยชราของเขา ข้อสังเกตที่สมองจะพยายามชดเชยร่างกายที่สึกหรอไป พอหูได้ยินเสียงไม่ชัด ก็เกิดคำใหม่ๆ ที่แปลกเพี้ยนไป สมองสามารถตีความชดเชยจนเกิดความหมายใหม่ให้กับประสาทสัมผัสที่เสื่อมลง ความไม่พร้อมของร่างกายก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ
  • The Creative Self พลังงานความสร้างสรรค์อันเกิดจากการเตรียมตัว ฝึกฝน ผ่านประสบการณ์ในชีวิตสั่งสม การเลือกทางใหม่คือการพนันเพื่อเดินไปในทางที่ไม่เคยเดินที่อาจจะทำให้เสียเวลาเปล่า แต่แลกกับการได้ลองสิ่งใหม่ หลายครั้งความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการไม่ทำ การอยู่เฉยปล่อยให้สมองว่างแล้วไอเดียใหม่ๆ ก็ปะทุผุดขึ้นมา
    • เวลาที่เว้นว่าง การลืม นั้นสำคัญต่อการมองเห็น insight ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (เขายกตัวอย่าง Henri Poince ที่แก้ปัญหาสมการนึงได้ยามที่เดินเล่นชมธรรมชาติ เราจึงปล่อยให้ตัวเองลืมให้จิตใจและสมองได้จัดการตัวเอง วางเรียงตัวเอง
  • General Feeling of Disorder ความรู้สึกไม่สบายที่เกิดขึ้นเมื่อมีโรคภัย พูดถึง Homeostasis ระบบประสาทที่คอยควบคุมชีวิตเราให้ดำเนินไปเป็นปกติ ตรวจสอบดูแลตัวเองให้แข็งแรงคงที่ Raph Waldo Emerson ผู้เป็นอัลไซเมอร์ในวัย 60 กว่า เมื่อถูกถามว่าสบายดีไหม เขาตอบว่า “ผมนั้นสูญเสียศักยภาพทางจิตใจไป แต่ร่างกายก็แข็งแรงดี”
    • ประสาทส่วนอัตโนมัตินี้ประกอบด้วย 2 ระบบที่ช่วยให้เราคงชีพ แข็งแรงปกติดี
      • Sympathetic เร่งการทำงานหัวใจและกล้ามเนื้อ หรือระบบ fight or flight กระทั่งทำให้หัวใจเต้นแรง ประสาทสัมผัสชัดเมื่ออยู่ในสถานการณ์เป็นตาย
      • Parasympathetic ลดการทำงานของหัวใจ ระบบหลังบ้านควบคุม ไต ตับ สร้างความผ่อนคลาย ทำให้หลับสบาย
    • เมื่อร่างกายเรารู้สึกไม่ปกติ ไม่สบาย เราจึงได้ความรู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจบางอย่าง เกิดเป็นความรู้สึกแปลกประหลาดที่อธิบายได้ยาก บางคนอาจรู้สึกสบายดีเกินไป หรือ eupheria ขึ้นก่อนเกิดไมเกรน บางคนรู้สึกว่าสมองนั้นระเบิดไปด้วยความคิดทางคณิตศาสตร์หลังจากอาการปวดหัวไมเกรนขึ้น
  • The River of Consciousness
    • Jorge Luis Borges บอกว่า “เวลาคือที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา เวลาคือแม่น้ำที่พาตัวเขาไป และเขาคือแม่น้ำนั้น” การเคลื่อนไหว การกระทำ การรับรู้ ความคิด สตินั้นเกิดขึ้นในเวลา เราอยู่ในเวลา เราจัดการเวลา เราคือสิ่งมีชีวิตแห่งเวลา แต่เวลาที่เราอาศัยอยู่นั้นดำเนินต่อเนื่องเหมือนแม่น้ำของ Borges ไหม?
    • David Hume มองว่าจิตใจนั้นประกอบขึ้นจากกองของการรับรู้อันหลากหลาย มาประกอบกัน เปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง ขยับเคลื่อนไม่หยุดยั้ง
    • ส่วน William James นั้นแนะนำคำว่า stream of consciousness  ซึ่งเขาสงสัยว่าสติการคิดของเรานั้นไม่หยุดยั้งหรือเป็นเพียงภาพลวงตา  เหมือนเครื่อง zeotrope ก่อนปี 1830 เราไม่สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวได้ มันจึงเกิดขึ้นจากการรับรู้การเคลื่อนไหวผ่านการมองดูภาพนิ่งแล้วนึกตาม ความรู้ที่เรามีอยู่เดิมทั้งอนาคตหรือปัจจุบันนั้นปนเปื้อนกับความรู้ของเรา ณ ปัจจุบันอย่างยิ่ง สำหรับ James ความรู้ที่มีอยู่ก่อน คือเป็นเชื้อโรคปนเปื้อนความทรงจำและความคาดหวัง  
    • การมองความคิดเป็นสายน้ำหลั่งไหลจึงไม่ถูกต้องครบถ้วน แม้ได้รับการยอมรับแพร่หลาย ความทรงจำนั้นไม่ได้เกิดขึ้นผ่านการเปรียบเทียบกับการมองด้วยตาเท่านั้น จริงๆ แล้วแต่และสมองนั้นได้อัดภาพนิ่งเก็บไว้ และเชื่อมต่อให้เกิดภาพเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำตอบในยุคของนักคิดยุคนั้น
    • Oliver Sacks มีคนไข้ที่ไม่สามารถรับรู้ประสบการณ์เห็นภาพที่ต่อเนื่องได้ เขาเห็นเพียงแค่ภาพนิ่งที่กะพริบทีละเฟรม  ในหนังสือไมเกรน ผู้ป่วยได้เปรียบเทียบการมองเห็นของตัวเองว่าเหมือนหนังที่เล่นช้าไป ประมาณ 6-8 เฟรมต่อวินาที ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการเปรียบเทียบความคิดเป็นดั่งสายน้ำไหลตลอดเวลาต่อเนื่อง
    • จริงๆ แล้วสมองนั้น break up เวลาและความจริงออกเป็นเฟรมแยกจากกัน จากนั้นเราจึงประกอบขึ้นใหม่กลายเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องอีกรอบเมื่อนึกถึง เราไม่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเหมือนหุ่นยนต์ เรารับรู้การเคลื่อนไหวเหมือนเรารับรู้สีและมิติ
    • แทนที่จะมองสมองเป็นสิ่งคงที่แน่นอนรันตามโปรแกรมเหมือนคอมพิวเตอร์ มนุษย์นั้นเลือกจดจำประสบการณ์ ภาวะการเลือกจำของสมองนั้นถูกเรียกว่าเป็น Neural Darwinism หรือ The Darwinism of Synapse เซลล์ประสาทนั้นเลือกจดจำเฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต สติจึงเป็นกระบวนการมากกว่าวัตถุ เกิดจากการทำงานระหว่างเซลล์ประสาทในแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ในสมอง ความทรงจำจึงไม่ถูกบันทึกเป็นชิ้นขึ้นมา แต่อุบัติเกิดขึ้นตรงกลางเมื่อเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกัน
    • กบนั้นไม่มีสติจะสนใจและการจดจ้องมองโลกเป็นเหตุการณ์ กบไม่มีโลกของการมองเห็น หรือมีสติทางภาพในแบบที่เรารับรู้ เป็นแค่ระบบออโต้ที่ตรวจจับ เมื่อสิ่งที่คล้ายแมลงโผล่ขึ้นมาในพื้นที่การมองเห็น มันจะแลบลิ้นสนองกลับเพื่อกินแมลงนั้น ไม่ได้สอดส่องสายตาหรือสอดส่องมองหาเหยื่อของมัน
    • จิตใจของเราจึงมีภาพแบบ Proust  คล้ายเคียงกับภาพถ่ายแต่ละเฟรมแต่ร้อยเรียงกันเป็นกลุ่มก้อนของเหตุการณ์ snapshot เหล่านี้เรียงกันเป็นภาพเคลื่อนไหวในหัวเราจนเหมือนไหลดั้งแม่น้ำแบบ Borges กล่าว

แต่ละเรื่องอ่านแล้วกระชุ่มกระชวยจิตใจอย่างยิ่ง เหมือนมีแสงส่องใจ เมื่อมีความสนใจที่หลากหลาย จึงหยิบแง่มุมต่างๆ มาเล่า ผ่านชีวิตและประสบการณ์ที่เขาได้ซัมซับคัดกรองออกมาเล่า 

จิตใจและความทรงจำของ Sacks ที่ถูกร้อยเรียงเก็บไว้ เป็นดินแดนโปรดที่เราจะเข้าไปสำรวจได้ไม่รู้จบ สิ่งที่เรารักมากเกี่ยวกับ Sacks คือเขามองโลกในแง่ดีเสมอ แต่ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีแบบมองข้ามดีเทลและความซับซ้อนของชีวิตไป ความทรงจำของเขาเต็มไปด้วยเกร็ดผ่านการสะสมมากมายมาตลอดชีวิต แทรก insight และประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกสดใสและชุ่มชิ้น จิตใจอันสดใสด้วยความสงสัยไม่มีที่สิ้นสุด

Zeotrope -  device that produces the illusion of motion from a rapid succession of static pictures


ในความไม่สมบูรณ์ ความผิดหลาด นั้นมีข้อดี ในโรคภัยเราได้เห็นการทำงานของร่างกายและสิ่งมีชีวิต ซ่อนไว้ผ่านการวิวัฒนาการตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมา

มนุษย์และตัวตนของเรานั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เคลื่อนไหว ยืดหยุ่น เคลื่อนขยับและอุบัติขึ้นจากการกระบวนเชื่อมต่อและขึ้นกับ hardware และประสบการณ์ของเราอย่างแยกได้ยาก